กฎหมาย/กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560

ปีที่ประกาศใช้ พ.ศ. 2560

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เป็นการนำหลักการในพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509 มาบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับเดียว ประกาศ ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 และให้ใช้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560) สรุปสาระสำคัญ ของกฎหมายได้ ดังนี้ 1. กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการกำหนดบริหารจัดการแร่ (มาตรา 7) เพื่อให้การบริหารจัดการแร่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืนรัฐมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน รวมทั้งการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทำเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม 2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการแร่ (มาตรา 17) การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยการสำรวจทรัพยากรแร่ แหล่งแร่สำรอง การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้าม หรืออนุรักษ์ไว้ และพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการแร่ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และให้มีการทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ทุก 5 ปี 3. การอนุญาตให้สำรวจแร่ แบ่งอาชญาบัตรเป็น 3 ประเภท คือ อาชญาบัตรสำรวจแร่ (มาตรา 40-41) อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ (มาตรา 42-45) และอาชญาบัตรพิเศษ (มาตรา 46-51) 4. การรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติ (มาตรา 56) กำหนดให้เมื่อมีการยื่นคำขอประทานบัตร และกำหนดพื้นที่คำขอแล้วโดยวิธีการรังวัดแล้ว ให้มีการปิดประกาศคำขอประทานบัตรในที่ที่เปิดเผย หลังจากนั้นให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ พื้นที่ที่ขอประทานบัตร หากประชาชนในชุมชนไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง และผู้ออกประทานบัตรไม่สามารถวินิจฉัยให้ได้ข้อยุติ จะจัดให้มีการทำประชามติของประชาชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร 5. การทำเหมือง (มาตรา 53) กำหนดให้มีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการแร่ โดยการแบ่งประเภทการทำเหมือง และกำหนดผู้มีอำนาจในการออกประทานบัตรในเหมืองแต่ละประเภท ดังนี้ (1) เหมืองประเภทที่ 1 เนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่โดยความเห็นของของคณะกรรมการแร่จังหวัดเป็นผู้ออกประทานบัตร (2) เหมืองประเภทที่ 2 เนื้อที่ไม่เกิน 625 ไร่ ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแร่เป็นผู้ออกประทานบัตร (3) เหมืองประเภทที่ 3 ได้แก่ การทำเหมืองที่ไม่ใช่การทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือ การทำเหมืองประเภทที่ 2 การทำเหมืองในทะเล และการทำเหมืองใต้ดิน ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแร่เป็นผู้ออกประทานบัตร 6. กำหนดหน้าที่ของผู้ถือประทานบัตร (มาตรา 68) เช่น (1) กำหนดให้ต้องเสนอแผนฟื้นฟู การพัฒนา การใช้ประโยชน์ และการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในระหว่างการทำเหมืองและหลังจากปิด (2) แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่โดยพลันในกรณีที่หลักหมายเขตเหมืองแร่หรือหมุดหลักฐานการแผนที่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำไว้สูญหายหรือถูกทำลายและต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรังวัดทำหลักหมายเขตเหมืองแร่หรือหมุดหลักฐานการแผนที่ใหม่ (3) วางหลักประกันการฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมืองตามแผนฟื้นฟูและการเยียวยา ผู้รับผลกระทบจากการทำเหมือง (4) การทำเหมืองประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ต้องจัดทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 7. การทำเหมืองใต้ดิน (มาตรา 91) การทำเหมืองใต้ดินในระดับความลึกจากผิวดินเกินกว่าหนึ่งร้อยเมตร ให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือผู้มีสิทธิทำกินตามกฎหมายอื่นมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน 8. การขุดหาแร่รายย่อยและการร่อนแร่ (มาตรา 94-96) ถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อนุญาตหรือรับแจ้ง 9. การแต่งแร่และการประกอบโลหกรรม (มาตรา 108 และมาตรา 113) สามารถขยายหรือลดเขตแต่งแร่หรือเขตประกอบโลหกรรมได้ รวมถึงให้โอน ใบอนุญาตได้ 10. กำหนดชนิดแร่ที่นำเข้าส่งออก (มาตรา 104) เพื่อประโยชน์ในความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือความปลอดภัยของประชาชน ได้กำหนดชนิดแร่และสภาพแร่ที่นำเข้าส่งออก โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) แร่ที่ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป หรือส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป (2) แร่ที่ต้องขออนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป หรือส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป (3) แร่ที่ต้องแจ้งการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป หรือส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป 11. การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ (มาตรา 131) ให้ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย ผู้แจ้งการร่อนแร่ ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ ผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือผู้รับใบอนุญาตครอบครองแร่ ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ และกำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินค่าภาคหลวงแร่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ 12. เงินบำรุงพิเศษ (มาตรา 136) ผู้ถือประทานบัตรต้องชำระในอัตราร้อยละห้าของค่าภาคหลวงแร่ที่ผลิตได้จากประทานบัตรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาท้องถิ่น การศึกษาวิจัยด้านแร่ การปรับสภาพพื้นที่ที่ผ่าน การทำเหมืองแล้วตามหลักภูมิสถาปัตย์ และการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายแร่ 13. การพัฒนาและส่งเสริมการประกอบกิจการ (มาตรา 137) กำหนดมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมได้รับ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมรายปี หรือบริการอื่น ๆ ภายใต้กรอบของกฎหมาย 14. บทกำหนดโทษ (มาตรา 153-183) กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด โดยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งทางแพ่ง อาญา และทางปกครอง อาทิ (1) กรณีทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือทำเหมืองในพื้นที่ที่ประทานบัตรกำหนดห้ามมิให้ทำเหมืองนอกจากจะต้องรับผิดทางอาญาแล้วยังต้องรับผิดทางแพ่งด้วย (2) ให้อำนาจศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ สำหรับความเสียหาย ต่อจิตใจอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการแล้วส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพ อนามัย (3) กรณีนิติบุคคลกระทำความผิด ถ้าการกระทำนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ผู้นั้นก็ต้องรับโทษด้วย (4) เพิ่มบทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยทุจริต กระทำหรือไม่กระทำการใดโดยทุจริตเพื่อมิให้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด (5) กำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเพื่อให้เกิดความรอบคอบและโปร่งใส กำหนดให้มีปรับเป็นรายวันในการกระทำความผิดบางฐานความผิด

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่