พระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. 2526
ปีที่ประกาศใช้ พ.ศ. 2526
1. ความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ในการตราพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. 2526 เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าแร่เป็นทรัพยากรของชาติที่ใช้แล้วหมดไป จะไม่สามารถหาสิ่งอื่นใดมาทดแทนได้และในขณะนั้นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและทำรายได้ให้แก่ประเทศชาติมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. 2526 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภาการเหมืองแร่ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และธุรกิจเหมืองแร่ ในการประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ 2. ขอบเขตการมีผลใช้บังคับของ พระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. 2526 พระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. 2526 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นวันถัดประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ใช้บังคับภายในราชอาณาจักรไทย และใช้บังคับบุคคลทุกคนที่อยู่ภายในราชอาณาจักรไทย 3. สาระสำคัญของพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. 2526 ให้จัดตั้งสภาการเหมืองแร่ขึ้น มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และธุรกิจเหมืองแร่ ในการประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (1) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ภาคเอกชนในการประสานนโยบายและดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ (2) ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และธุรกิจเหมืองแร่ (3) ศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ (4) คุ้มครองและรักษาประโยชน์ของสมาชิกในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ (5) ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานดังกล่าวให้สมาชิกทราบ คำว่า ”อุตสาหกรรมเหมืองแร่” หมายความถึง การทำเหมืองตามกฎหมายว่าด้วยแร่ คำว่า ”ธุรกิจเหมืองแร่” หมายความถึง การสำรวจแร่ การซื้อแร่ การขายแร่ การเก็บแร่ การแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม การนำแร่เข้าหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยแร่ สภาการเหมืองแร่มีสมาชิกสามประเภท คือ (1) สมาชิกสามัญ ได้แก่ สมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (2) สมาชิกสมทบ ได้แก่ สมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ (3) สมาชิกชั่วคราว ได้แก่สมาชิกซึ่งเป็นผู้ที่ประสงค์จะประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่หรือธุรกิจเหมืองแร่ สภาการเหมืองแร่มีรายได้ ดังต่อไปนี้ (1) ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงของสมาชิก (2) ค่าบำรุงพิเศษ (3) ทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้ (4) เงินรายได้อื่น ๆ การบริหารกิจการสภาการเหมืองแร่ สภาการเหมืองแร่บริหารงานโดยคณะกรรมการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการประชุมสมาชิกประจำปี สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ เป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการตามประเภทของสมาชิก คณะกรรมการมีจำนวนสิบแปดคน ประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสามัญจำนวนสิบสองคน และกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสมทบจำนวนหกคน กรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี คณะกรรมการเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสามัญคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานกรรมการ และให้ประธานกรรมการเป็นประธานที่ประชุมสภาการเหมืองแร่ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ในการวางนโยบายและดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่ให้เป็นไป ตามวัตถุประสงค์ของสภาการเหมืองแร่ ให้คำปรึกษา แนะนำ ชี้แจง และอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก ในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ และเสนอแนะ ให้ความเห็น และให้คำปรึกษา แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ รวมทั้งการออกข้อบังคับดังต่อไปนี้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสภาการเหมืองแร่และได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนจึงมีผลบังคับใช้ได้ (1) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการ (2) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและดำเนินกิจการของคณะกรรมการ และการประชุมสภาการเหมืองแร่ (3) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการรับสมัคร คุณสมบัติ สิทธิ หน้าที่ วินัย การลงโทษสมาชิก และการพ้นจาก สมาชิกภาพรวมทั้งการอุทธรณ์ในกรณีที่สภาการเหมืองแร่ไม่รับสมัครเป็นสมาชิก (4) ออกข้อบังคับกำหนดค่าลงทะเบียน ค่าบำรุง ค่าบำรุงพิเศษ และค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากสมาชิก (5) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบัญชีและการเงินของสภาการเหมืองแร่ (6) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การกำหนดตำแหน่งอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินบำเหน็จรางวัลพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งระเบียบ วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของ พนักงานและลูกจ้าง (7) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการสงเคราะห์พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนครอบครัวของบุคคลดังกล่าว หรือผู้ที่พ้นจากการเป็นพนักงานและลูกจ้าง (8) ออกระเบียบหรือข้อบังคับในเรื่องอื่นใดที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่ ในการประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือตามเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียง ในการลงคะแนน กรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ในการบริหารงานภายใน คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นหนึ่งชุดประกอบด้วยกรรมการจำนวนตามที่คณะกรรมการจะพิจารณาเห็นชอบ เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองและพิจารณางานต่าง ๆ ก่อนเสนอคณะกรรมการ และ/หรือสั่งการแทนคณะกรรมการตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายของสภาการเหมืองแร่ เป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะกรรมการสภาการเหมืองแร่มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อศึกษาและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ คณะกรรมการจะแต่งตั้งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ขึ้นหนึ่งคน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสภาการเหมืองแร่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการ และเป็นผู้แทนของ สภาการเหมืองแร่ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก การดำเนินกิจการของสภาการเหมืองแร่ คณะกรรมการมีหน้าที่จัดประชุมสามัญ สภาการเหมืองแร่ปีละหนึ่งครั้ง ในการประชุมสามัญ คณะกรรมการมีหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยงบดุลและบัญชีรายรับรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน และส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมสามัญรับรองแล้ว เมื่อมีเหตุจำเป็น หรือ เมื่อสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบ หรือสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในแปดของจำนวนสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบรวมกันทำหนังสือร้องขอ คณะกรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญ สภาการเหมืองแร่ เมื่อไรก็ได้ องค์ประชุมในการประชุมแต่ละครั้ง ต้องประกอบด้วยสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบรวมกัน การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือตามเสียงข้างมากของสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบที่มาประชุมรวมกัน สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน กรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด สมาชิกชั่วคราวมีสิทธิ์เข้าร่วมการประชุม แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน การควบคุมของรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) ควบคุมดูแลให้คณะกรรมการจัดการประชุมสามัญประจำปี และจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยงบดุล และบัญชีรายรับรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน และส่งสำเนาเอกสารดังกล่าว ไปยังรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมสามัญรับรอง แล้ว (2) สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่ (3) สั่งเป็นหนังสือให้กรรมการหรือเลขาธิการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสภาการเหมืองแร่ และให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของคณะกรรมการด้วยก็ได้ (4) สั่งเป็นหนังสือโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้สภาการเหมืองแร่ยับยั้งหรือแก้ไขการกระทำใดๆ ที่ปรากฏว่าขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี กรณีที่ปรากฏว่าสภาการเหมืองแร่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามข้อ (1) ถึง (4) ด้านบน หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของสภาการเหมืองแร่ หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเช่นนี้ กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไม่มีสิทธิเป็นกรรมการอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดสองปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่ง ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการทั้งหมดพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลจากสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบของสภาการเหมืองแร่ที่เหมาะสม จำนวนสิบแปดคน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ซึ่งเป็นสมาชิกสามัญจำนวนสิบสองคน และกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสมทบจำนวนหกคน เป็นกรรมการภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้คณะกรรมการทั้งคณะพ้นตำแหน่ง และให้คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เรียกประชุมสภาการเหมืองแร่ เพื่อเลือกกรรมการชุดใหม่ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ