พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 และประมวลข้อบังคับ
ปีที่ประกาศใช้ พ.ศ. 2530
เนื่องจากในปัจจุบันการประกอบอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและทำรายได้ให้แก่ประเทศชาติมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สมควรจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ในการประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้กำหนดรายละเอียดเพื่อบังคับใช้ภายใต้ของกฎหมายแบ่งออกเป็น ๖ หมวด ดังต่อไปนี้ หมวดที่ ๑ เรื่อง การจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการกำหนดถึงสถานะการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย การกำหนดวัตุประสงค์ ข้อห้ามกำหนดสถานที่การจัดตั้งของสำนักงานใหญ่ และรายได้ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หมวดที่ ๒ เรื่อง สมาชิก กรรมการ และพนักงาน ได้มีการกำหนดประเภทของสมาชิก คุณสมบัติของสมาชิก ประเภทและจำนวนของคณะกรรมการ ลักษณะข้อห้ามของผู้แทนสมาชิกสามัญ วาระของกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการการดำเนินการของคณะกรรมการ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หมวดที่ ๓ เรื่อง การดำเนินกิจการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการกำหนดการจัดประชุม องค์ประชุม และการดำเนินการในการประชุมของสมาชิกสามัญรวมถึงของคณะกรรมการ หมวดที่ ๔ เรื่อง การควบคุมของรัฐ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ หลักเกณฑ์ และวิธีการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการควบคุมและกำกับดูแลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการดำเนินกิจการให้อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมวดที่ ๕ เรื่อง บทกำหนดโทษ ได้กำหนดโทษแก่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ หรือผู้ใด ที่ได้กระทำการเป็นอันขัดขวางหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ หมวดที่ ๖ เรื่อง บทเฉพาะกาล เป็นการยกเลิกสมาคมอุตสาหกรรมไทยเดิมเพื่อให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้ของสมาคมมาอยู่ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งนี้รวมถึงการดำเนินการอื่นใดเมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ